Day 2 : จัยปูร์ เมืองที่มีมากกว่านครสีชมพู

จัยปูร์ หรือชัยปุระ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย
เป็นเมืองหลวงของรัฐราชาสถาน (Rajastan) ซึ่งก่อตั้งราวสามร้อยปีก่อน
จัยปูร์ รู้จักกันในนาม “Pink City” หรือนครสีชมพู
เมื่อมหาราชาสั่งให้ชาวเมืองทาสีบ้านเมืองเป็นสีชมพู ต้อนรับเจ้าชายแห่งเวลส์

Amber Fort ป้อมปราการเมือง

หลังมื้อเช้า เรามุ่งหน้าสู่ป้อมปราการสำคัญของจัยปูร์
ที่ตั้งอยู่ห่างเพียง 15 นาทีจาก Fairmont Jaipur โรงแรมที่เราเข้าพัก


ปกติ นักท่องเที่ยวจะขี่ช้างขึ้นชมป้อมปราการ สร้างบรรยากาศอย่างมหาราชา
แต่ช่วงนี้มีเทศกาลสำคัญทางศาสนา จึงงดกิจกรรมขี่ช้าง
อีกทางเลือกคือนั่งรถจี๊ป แต่ก็คงไม่สบายนัก เพราะอากาศร้อนแถมไม่มีแอร์ รถก็ติด
พวกเรานั่งรถส่วนตัวขึ้นมาจอดหน้าป้อมปราการ สะดวกสบายมาก
อากาศตอนเช้ายังเย็นสบาย นักท่องเที่ยวน้อย เดินชม 45 นาทีก็เสร็จสรรพ

ในอดีต Amber Fort เคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน จนประชากรมากขึ้น
มหาราชาจึงตัดสินใจย้ายไปยังจัยปูร์ และสร้างเมืองใหม่
หน้าที่หลักของ Amber Fort มีอยู่ 2 หน้าที่สำคัญ

หนึ่ง … ปกป้องเมืองจากศัตรูที่จะมารุกราน
เราจึงเห็นกำแพงเมืองถูกสร้างยาวตามแนวเขา อารมณ์เดียวกับกำแพงเมืองจีน

สอง … เป็นพระราชวังของมหาราชาและมหารานี
ด้านในของป้อมปราการจึงมีพระราชวังชั้นนอก ลานกว้างไว้รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน

ส่วนพระราชวังชั้นในเป็นที่พักของมหาราชา
มีการสร้างระบบระบายอากาศ ทำทางน้ำผ่าน ให้เย็นสบายในช่วงฤดูร้อน
นอกจากนั้นยังมีสวนสวย และสถาปัตยกรรมแบบโมกุลที่งดงามตระการตา

สถาปัตยกรรมแบบโมกุล ถูกพัฒนาขึ้นในสมัยโมกุลของอินเดีย ราว ค.ศ. 16-18
เป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมอิสลาม-เปอร์เซีย-ตุรกี-อินเดียเข้าด้วยกัน
ลักษณะเด่นด้วยโดมขนาดใหญ่ หอมินาเรตสูง โถงมหึมา
ทางเข้าหลังคาโค้ง และการตกแต่งที่วิจิตรตระการตา
ซึ่งเราจะได้เห็นสถาปัตยกรรมโมกุลในแหล่งท่องเที่ยว
รวมถึงโรงแรมต่างๆในประเทศอินเดียนับจากนี้

*

Jal Mahal พระราชวังกลางน้ำ

หลังจากชม Amber Fort เราก็มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองของจัยปูร์
ระหว่างทางขับรถผ่าน Jal Mahal พระราชวังกลางน้ำที่โด่งดัง
มหาราชาสร้างพระราชวัง สำหรับพำนักในช่วงฤดูร้อน อยู่กลางทะเลสาบ
ดูแล้วเหมือนพระราชวังลอยอยู่บนน้ำจริงๆ
นักท่องเที่ยวแวะถ่ายรูปริมถนนได้ แต่ข้ามไปชมไม่ได้

Credit : Jaipur Tourism

*

Hawa Mahal พระราชวังแห่งสายลม

เมื่อย่างเข้าเขตเมืองจัยปูร์ ความวุ่นวายและเสียงแตรก็บรรเลงขึ้นดั่งเสียงเพลง
นครสีชมพูในวันนี้ ยังคงหลงเหลือสีชมพูอมสีอิฐอยู่บ้าง ตามกำแพงและสถานที่ราชการ

Hawa Mahal เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังหลวง หรือ City Palace
ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1799 ด้วยหินทรายสีชมพู สถาปัตยกรรมแบบโมกุล
มีความสูงเทียบเท่าอาคาร 5 ชั้น และตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ริมถนนที่วุ่นวายที่สุดของเมือง

เหตุผลหลักในการสร้าง … ก็เพื่อให้นางสนมทั้งหลายของมหาราชาที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
ได้ชมวิถีชีวิตของผู้คนด้านนอกบ้าง ด้วยการมองผ่านหน้าต่างกว่า 900 บาน
จึงได้ชื่อว่าพระราชวังแห่งสายลม

จุดถ่ายรูปที่ดีที่สุดของ Hawa Mahal อยู่บนชั้นดาดฟ้าของคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ตรงข้าม
ไกด์ทุกคนรู้จักจุดถ่ายรูปนี้ดี คาเฟ่เหล่านี้เองก็จะขายตั๋วขึ้นชม Hawa Mahal อย่างใกล้ชิด
ตั๋วนี้จะรวมเครื่องดื่มร้อนและเย็น พร้อมที่นั่งให้ชื่นชมอีกด้วย

*

City Palace พระราชวังหลวง

เพียงห้านาทีจากพระราชวังแห่งสายลม เราก็เดินทางมาถึงพระราชวังหลวงของจัยปูร์ City Palace
สถานที่พำนักและว่างานราชการของมหาราชา ไสว จัย สิงห์ที่ 2 ผู้ก่อตั้งจัยปูร์
พระราชวังหลวงสร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1732 ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมเพียงบางห้อง
ตอนนี้เป็นเวลาประมาณสิบเอ็ดโมงเช้า แดดเริ่มแรงและอุณหภูมิเริ่มร้อนขึ้น ต่างจากเมื่อเช้า

เรารีบก้าวเท้าเข้าไปหลบแดดยังโถงต้อนรับของพระราชวัง
ห้องนี้มีชื่อว่า Diwan-I-Khas แปลว่าโถงต้องรับ
ฝ้าเพดานของห้องโค้งมนสลับกันไป ทาด้วยสีชมพูหวาน ดูละมุนละไม
แขกยามยืนยิ้มฟันขาวอยู่กลางห้อง ถามว่าจะถ่ายรูปด้วยไหม?
ริมห้องจะมีแจกันเงินแท้ที่ถูกบันทึกว่ามีขนาดใหญ่ที่ของโลกลงกินเนสบุ๊ค


ถัดจากโถงรับรอง ก็จะเข้าสู่ลานชั้นใน ที่ตั้งของซุ้มประตูอันงดงามวิจิตรทั้ง 4
ประตูเหล่านี้เป็นตัวแทนของเทพสำคัญในศาสนาฮินดู และฤดูกาลทั้ง 4
น่าเสียดายที่ช่วงนี้ประตูนกยูงกำลังปรับปรุง และประตูอื่นๆ ก็มีไม้กั้น ไม่ให้เข้าไปถ่ายรูปใกล้ๆ
เราเลยเก็บภาพได้เพียงห่างๆ อย่างไวๆ มาให้ชมกัน

ประตูสำคัญที่สุด ประตูนกยูง (Peacock Gate) เปรียบดังสัตว์ของสวรรค์
สัญลักษณ์ของกษัตริย์ ตัวแทนพระวิษณุ และฤดูฝนที่ชุ่มช่ำ อุดมสมบูรณ์

ประตูดอกบัว (Lotus Gate) ตัวแทนพระศิวะ และฤดูร้อน

ประตูกุหลาบ (Rose Gate) ตัวแทนพระแม่ปารวดี และฤดูหนาว

ประตูเขียวคลื่น (Leheriya/Wave Gate) ตัวแทนพระพิฆเนศ และฤดูใบไม้ผลิ

จากนั้นเราก็เข้าชมห้องต้อนรับชั้นในที่มหาราชาใช้รับรองแขกบ้านแขกเมือง ห้องนี้ห้ามถ่ายรูปค่ะ
ใกล้กันเป็นห้องภาพถ่ายของมหาราชา รวมถึงมหาราชองค์ปัจจุบันที่ยังเป็นโสด และหนุ่มแน่น
ห้องนี้ถ่ายรูปได้ เลยเก็บภาพของ Bachelor ของจัยปูร์มาให้สาวๆได้ชมกัน

สุดท้ายก็ถึงเวลาของห้องที่รอคอยใน City Palace ซึ่งเปิดให้เข้าชมเพียงไม่กี่ห้องเท่านั้น
ใครสนใจเข้าชมห้องเหล่านี้ จะต้องซื้อตั๋วที่แพงขึ้น แต่ก็มีบริการดีตอบกลับ
แขกยามช่วยอธิบาย และถ่ายรูปในแต่ละห้อง
รวมเครื่องดื่มฟรีที่ดาดฟ้าของพระราชวังด้วย

ห้องแรก Sobha Niwas หรือห้องสีทอง ที่ภายในตกแต่งด้วยสีทองและกระจกเงา
นั่งถ่ายรูปบนฟูก ประหนึ่งมหารานี

ห้องสีฟ้า Chhavi Niwas หรือ Blue Room ที่ทุกคนห้ามพลาด
ทรงของห้องเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า จะเดินยาว หรือยืนกลางห้องก็ถ่ายรูปได้สวยทุกมุม
แนะนำให้แขกยามที่ดูแลห้องเป็นคนถ่ายให้ เพราะเค้าจะรู้มุม
อารมณ์ตอนถ่ายรูปเหมือนตัวเองเป็นนางแบบ
ถูกสั่งให้หันหน้า หันหลัง มุมนั้น มุมนี้ สนุกดีค่ะ
เสร็จปุ๊ปก็ให้สินน้ำใจปั๊ป นิดๆหน่อยๆ 100-200 รูปี

ห้องมืด เป็นห้องสุดท้าย
เมื่อปิดประตู ปิดไฟ จะมีเพียงแสงเทียนส่องสว่าง
แสงเทียนจะกระทบกระจกภายในห้อง ส่องแสงระยิบระยับเหมือนดาวดวงเล็กๆ
ถือเป็นการจบการเข้าชม City Palace ได้อย่างสวยงามและน่าประทับใจ

*

The Swinton House

อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่หลายร้อยปี ช่วงเวลานี้มีทั้งการขับเคลื่อนและการกดขี่
กลายเป็นบาดแผลใหญ่ของประเทศอินเดีย
ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอันดับหนึ่งทางความคิด และปรัชญาชีวิต
แต่อย่างหนึ่งที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรม คือ วิถีชีวิต
และการผสมผสานทางสถาปัตยกรรมของสองซีกโลก

The Swinton House เคยเป็นส่วนหนึ่งของกองบัญชาการกองทัพอังกฤษ
ได้ชื่อมาจาก Samuel Swinton Jacob ทหารและสถาปิกชาวอังกฤษ
ที่เป็นผู้สร้าง Taj Rambage Palace และ Albert Hall Museum ของจัยปูร์

The Swinton House นั้นเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์
มีหลายห้อง ควรเดินชมให้ทั่วถึงจะเห็นทุกมุม
ชั้นล่างมีคอร์ยาร์ดอยู่ตรงกลาง คล้ายคาเฟ่ ปีกซ้ายขวาเป็นห้องอาหาร
ชั้นบนออกแบบให้คล้ายบาร์นั่งดื่ม มีภาพเขียนฝ้าเพดานสีสดเตะตา
และรูปปั้นมนุษย์ถือเทียนส่องสว่างอยู่กลางห้อง

อาหารของ The Swinton House เน้นเมนูนานาชาติ
อิตาเลี่ยนรสชาติดี อินเดียก็อร่อย ครีมมี่และจัดจ้านมาก
จานปลาเค็มไปบ้าง แต่รวมๆก็ถือว่าดี
เป็นประสบการณ์กินและเที่ยวที่น่าประทับใจในจัยปูร์

*

Patrika Gate ประตูคู่บ้านคู่เมือง

ที่เที่ยวแห่งสุดท้ายของจัยปูร์ ประตูเมืองต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

สร้างโดยการสนับสนุนจากหนังสือพิมพ์ชื่อดังของอินเดีย

เลยตั้งชื่อตามหนังสือพิมพ์หัวนั้นว่า Patrika

เป็นประตูที่ถ่ายรูปออกมาแล้วสวยมาก แสงเย็นยิ่งละมุน และสดใส

*

Shopping at Anoki & Good Earth

บ่ายวันนี้ เรามีเวลาว่าง เลยขออุทิศให้การช้อปปิ้ง
Anoki เป็นร้านแรก และร้านที่สาวไทยรู้จักกันดี
ผ้าค็อตต้อนอินเดีย ลวยลายสวยๆของ Anoki ที่นำมาทำเป็นเสื้อผ้าและของแต่งบ้าน
ล้วนเป็นที่ถวิลหาของสาวไทยหลายคน
สนนราคาเดรส ประมาณ 1,200 บาท เสื้อคลุม 1,000 บาท
ถือว่าย่อมเยากว่าค็อตต้อนอินเดียที่นำเข้ามาขายในไทยประมาณ 30-50%

ถัดไปเป็นร้าน Good Earth ร้านขายของตกแต่งบ้าน
ระดับไฮเอนที่ตั้งอยู่ในโรงแรมดังที่เป็นเหมือนพระราชวังของจัยปูร์
สินค้าที่ขายมีทั้งแก้วกาแฟ เซ็ตจานชาม ปลอกหมอน ชุดเครื่องนอน และเครื่องหอม
ราคาของ Good Earth ค่อนข้างสูงประมาณยี่ห้อ Spode ที่นักสะสมเครื่องจานรู้จักกันดี

จบวันแห่งการทำความรู้จักจัยปูร์ นครสีชมพูที่สร้างความประทับใจ

และยังมีอะไรให้น่าค้นหาอีกมากมาย หวังว่าจะได้กลับไปอีก

จัยปูร์ที่มีมากกว่านครสีชมพู ^^