สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า สะพานข้ามทะเลยาวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก – ฮ่องกง

ในขณะที่กระเช้าหนองปิงกำลังไต่ระดับสูงขึ้น ฉันก็มองเห็นถนนเส้นยาว เหมือนขนมจีนพาดผ่านน้ำทะเลสีฟ้า ถนนเส้นนี้อยู่ใกล้ๆกับสนามบินนานาชาติฮ่องกง หรือ สนามบินเช็กแล็บก็อกค่ะ
ฉันมารู้ในตอนที่ล่องเรือชมปลาโลมาสีชมพูว่า ถนนเส้นนี้คือสะพานเชื่อมฮ่องกง มาเก๊า และจูไห่ ของประเทศจีน และมีชื่อเป็นทางการว่า Hong Kong–Zhuhai–Macau Bridge กำหนดการเปิดใช้ในปลายปีนี้


สะพานนี้สร้างขึ้นเพื่อความมุ่งหวังในการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลเชื่อมจู่ไห่ของ มลฑลกวางตุ้ง เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน เข้ากับมาเก๊าและฮ่องกง


ที่นี้เรามาดูกันว่าสะพานเส้นขนมจีนนี้มีจุดเด่นยังไงกันบ้าง …
1. สะพาน Hong Kong-Zhuhai-Macau อาจจะเป็นสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดของโลก โดยส่วนที่ ข้ามน้ำทะเลยาวที่สุดอาจมีความยาวถึง 29.6 กิโลเมตร หรือระยะทางประมาณ หาดหัวหินและ หาดชะอำ ที่เราขับรถกัน 15-20 นาทีกันเลยเชียว (ยกนิ้วให้เลยค่ะ)
2. สะพานนี้ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจาก 4 ชั่วโมงระหว่างเมืองจูไห่ของจีนไปยังฮ่องกงในปัจจุบัน ให้เหลือเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง หรือลดระยะทางจากที่ต้องเดินทางอ้อมเมืองผ่านไปยังเสิ้นเจิ้นเกือบ 200 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 40 กิโลเมตร เท่านั่น (สุดยอดอีกครั้ง และอยากได้สะพานอย่างนี้ ระหว่าง กรุงเทพไปหัวหินบ้างจังเลย)
3. สะพานนี้ใช้งบการก่อสร้างสูงถึง 8.3 พันล้านเหรียญฮ่องกง หรือประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท … น่าจะสูงอยู่ เพราะนักข่าวหลายสำนักเน้นย้ำเหลือเกินถึงงบจำนวนนี้
4. สะพานเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2009 และคาดว่าจะแล้วเสร็จ 15 ตุลาคม 2016 (7 ปีเท่านั้น ค่ะ) แต่ปัจจุบันล่าช้ากว่ากำหนด แต่ก็คาดว่าจะเปิดใช้ได้ในเดือนธันวาคม 2017 รวมเวลาสร้างทั้งหมด 8 ปีถ้วน (สุดยอดอีกแล้ว)


ถามว่าฉันคิดยังไงกับสะพานนี้? … ก็ต้องดีสิค่ะ เลิศสิคุณ เพราะนอกจากจะมีแลนด์มาร์คใหม่ๆมาให้ชม ให้อวดโลกแล้ว เจ้าสะพานนี้ยังช่วยประหยัดอะไรหลายๆได้ ไม่ว่าจะระยะทาง เวลา หรือที่สำคัญประหยัด ค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงบริษัทและร้านค้าต่างๆด้วย และถึงแม้มันจะเป็นโปรเจ็คที่ขาดทุนตั้งแต่เปิดตัว แต่มันกลับสร้างผลกำไรให้กับประชาชนและบริษัททั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นถึงแม้คนฮ่องกงกับรัฐบาลจีนจะยังฮึ่มๆ กัน แต่ถ้าด้านการค้านี่ไม่กระทบเลยนะคะ การเมืองจะไปทางไหน ค้าขายก็ยังดำเนินต่อไป ตามนิสัย พ่อค้าของชาวจีนนั่นเอง (เห็นด้วยไหมหล่ะ …)
แหล่งที่มาของข้อมูล Thaibizchina.com และ Wikipedia.org
เครดิตรูป อินเตอร์เน็ต … ถ่ายรูปไม่ทันค่ะวันนั้น หมอกลงด้วย เลยต้องขอยืมรูปชัดๆจากอินเตอร์เน็ตมาให้ยลกัน