11 หนังสือท่องเที่ยวหมวดหมู่อยู่ใน “ใจ”

ท่ามกลางหนังสือท่องเที่ยวมากมายบนชั้นวางหนังสือ มีอยู่เพียงไม่กี่เล่มที่ถูกแยกเอาไว้ หยิบออกมาข้างหน้า เพราะหนังสือเหล่านี้มีความพิเศษทางใจ ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ใหม่หรืออยู่ใน “ใจ” ของฉันตลอดกาลค่ะ

บางเล่มเป็นแรงบันดาลใจให้ออกเดินทาง บางเล่มเป็นต้นแบบของภาษาที่รัก และหลายเล่มก็เป็นเสียงหัวเราะในวันที่รู้สึกเบื่อ และนี่คือหนังสือท่องเที่ยวทั้ง 11 เล่ม บันทึกการเดินทางของเหล่าผู้กล้า นักเขียนที่ฉันหลงรักภาษาและใจของ เขาค่ะ …

ถ้าคุณมีหนังสือท่องเที่ยวหมวดหมู่อยู่ในใจ ก็แบ่งปันข้อมูลกันได้นะคะ

“เปรู ดินแดนแห่งความลับและมนตร์ขลัง”

นักเขียน ฟ้า บุณยะรัตเวช

สำนักพิมพ์ เหนือฟ้ายังมีฟ้า

เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว คุณฟ้า เป็นนักเขียนผู้หญิงเพียงไม่กี่คนในยุคนั้นที่รักจะเดินทางไปยังสถานที่แปลกๆ เขียนเรื่องราวการผจญภัยจนกลายเป็นบทความและหนังสือท่องเที่ยว จนถือกำเนิดสำนักพิมพ์ “เหนือฟ้ายังมีฟ้า”

และหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์นี้ “เปรู” ฉันจำได้ว่าหน้าปกออกแบบได้เท่มากสำหรับยุคนั้น ฉันหยิบลงตระกร้าทั้งๆที่ยังไม่ได้กวาดสายตาดูสำนวนของนักเขียนเลย แต่เมื่อหยิบมาอ่านแล้วก็วางไม่ลงค่ะ จำได้ว่าอ่านตลอดไฟลท์หลายชั่วโมงที่กำลังมุ่งหน้าไปยังจุดหมายสักแห่ง … สำนวนของคุณฟ้าอ่านแล้วรู้สึกถึงความเป็นกันเอง สอดแทรกด้วยถ้อยคำสวยๆ และข้อมูลท่องเที่ยวให้คนอ่านตามรอยได้จริง ฉันยกให้เธอเป็นนักสำรวจโลกสาวคนแรกของวงการท่องเที่ยวไทยเลยค่ะ

 

“กาลาปากอส มาดากัสการ์”

นักเขียน ปองพล อดิเรกสาร

สำนักพิมพ์ บริษัท เอเรียส บุ๊คส์ จำกัด

ถึงแม้ฉันจะรักความสบายและชอบเดินทางแบบคุณหนู (ไม่ได้หมายความว่าอยู่หรูหรือกินแพง แต่หมายถึง ไม่สมบุกสมบันค่ะ) แต่เวลาเลือกหนังสือท่องเที่ยวสักเล่ม ฉันกลับเลือกหนังสือที่เปิดโลกในเมืองที่ฉันคงไม่ไปแน่ๆ และหนังสือของคุณปองพล อดิเรกสาร ก็เป็นหนึ่งในบันทึกการเดินทางที่อ่านได้เรื่อยๆ

ท่านเป็นนักเดินทางตัวยงคนนึง เป็นช่างกล้องและนักเขียนด้วย และเล่มนี้ก็เป็นบันทึกการเดินทางเล่มแรกของท่านที่อ่านสนุกและได้ทั้งสาระความรู้ ทำให้ฉันรู้จักสัตว์และพันธุ์ไม้แปลกๆในกาลาปากอส และมาดากัสการ์ …  สำนวนของท่านจะตรงไปตรงมา อ่านง่าย เข้าใจง่าย สไตล์คล้ายนักหนังสือพิมพ์รุ่นเก๋า และแน่นปึ๊กไปด้วยข้อมูลค่ะ

 

“โตเกียวจิน ความสุขรายวันของคนคลานช้า”

นักเขียน สายฝน ทากาโอกะ

สำนักพิมพ์ แพรวสำนักพิมพ์ท่องโลก

โลกของแต่ละคนหมุนด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน

โลกของฉัน … หมุนด้วยความเร็วระดับหอยทาก

โลกของคุณหล่ะ … หมุนด้วยความเร็วระดับไหน

คำรำพัน (คำนำ) ของนักเขียนผู้นี้ ทำให้ฉันตัดสินใจซื้อหนังสือ “โตเกียวจิน” ทันที โดยไม่สนใจเนื้อหาหรือแม้แต่ชื่อนักเขียนสักนิด

“โตเกียวจิน” หมายความว่าชาวโตเกียว และคุณสายฝนก็เป็นหญิงไทยที่กลายเป็นชาวโตเกียวเพราะเธอแต่งงานกับชายญีปุ่น สร้างครอบครัวอยู่ที่เมืองหลวงแห่งนี้ค่ะ …

สำนวนของคุณสายฝนมีเสน่ห์ เป็นภาษาและถ้อยคำที่ฉันชอบมาก ให้ความเย็นเหมือนน้ำ ชุ่มฉ่ำเหมือนนามปากกาของเธอ และชโลมจิตใจทุกครั้งที่สัมผัสตัวหนังสือของเธอค่ะ

จำได้ว่า หลังจากอ่าน “โตเกียวจิน” จบ ฉันก็ยกหูโทรศัพท์สายตรงหาบรรณาธิการท่องเที่ยวของอมรินทร์ ที่เราสนิทสนมกัน เพียงเพื่อจะบอกว่า “ช่วยบอกคุณสายฝนให้เขียนหนังสืออีกสักเล่มนะ” ฉันหลงรักภาษาของเธอเข้าแล้ว

เสียดายที่หลังจากหนังสือเล่มนี้ ฉันก็ไม่เห็นผลงานของเธอผ่านตาอีกเลย … ถ้าใครรู้จักก็ฝากบอกเธอด้วยนะคะ ว่าคิดถึงผลงานของเธอค่ะ

 

“ไอซ์แลนด์เดือนเต็ม”

นักเขียน ม.ย.ร. มะลิ

สำนักพิมพ์วงกลม

ฉันแน่ใจมากกว่า ม.ย.ร. มะลิ หรือยุรี เพื่อนสมัยเรียนหนังสือ เป็นนักเขียนคนแรกของประเทศไทยที่ไปบุกเบิก Iceland ก่อนแสงเหนือจะฮิตกันปานนี้ ยุรีกลายมาเป็นนักเขียนได้ยังไง ฉันเองก็ไม่แน่ใจ รู้แต่ว่าตอนเด็กๆ ยุรีรักการวาดรูป และการ์ตูนญี่ปุ่นหน้าตาเหมือนนักร้องดังก็เป็นภาพที่เห็นยุรีวาดเสมอ

ไอซ์แลนด์เดือนเต็มเล่าเรื่องราวของเธอที่ไป homestay กับครอบครัวคนไทยในเรยาวิกนานถึง 30 วัน เรื่องราวของยุรีมักมีความเพ้อฝันอยู่เป็นนิจ ตัวหนังสือของยุรีอ่านง่ายเหมือนกับหัวใจยุรีที่ฉันรู้จัก … แม้วันนี้ยุรีจะเบนเข็มไปเป็นชาวสวน แต่หนังสือของยุรีก็ยังเป็นสิ่งทดแทนความคิดถึงเพื่อนได้เป็นอย่างดีค่ะ

 

ถกเขมร”

นักเขียน ม.ร.ว คึกฤิทธิ์ ปราโมช

สำนักพิมพ์ดอกหญ้า

จำไม่ได้จริงๆว่าอะไรดลใจทำให้หยิบหนังสือของ ม.ร.ว คึกฤิทธิ์ ขึ้นมาอ่าน และเล่มนี้ก็เป็นหนึ่งใน 3 เล่มที่ชอบมากๆ ของท่านค่ะ

“ถกเขมร” เล่าเรื่องราวของท่านในวันที่เบื่อเมืองกรุง และอยากออกไปเที่ยวกับเพื่อนฝูง ซึ่งประกอบด้วย คุณครูอบ ไชยวสุ คุณประหยัดศรี นาคะนาท และ คุณประยูร จรรยาวงษ์ นักวาดการ์ตูนล้อเลียน ที่ท่านวาดประกอบในหนังสือเล่มนี้ด้วย

นอกจากข้อมูลประวัติศาสตร์ชั้นเลิศ ที่ไม่รู้ว่า ม.ร.ว คึกฤิทธิ์ ไปหามาจากไหน ในยุคที่ google ยังไม่ถือกำเนิด หนังสือเล่มนี้ยังเป็นเหมือนสมุดข่อยที่รวบรวมเรื่องราวในอดีตให้เราอีกด้วย และในบท “เพลงเร็ว” ของหนังสือเล่มนี้ ม.ร.ว คึกฤิทธิ์ ก็ได้บรรยายการขึ้นเครื่องบินในทศวรรษแรกไว้จนเห็นภาพ พร้อมด้วยเสียงหัวเราะ ที่ตามมาไม่ขาดสายเลยค่ะ

 

“โลโซล่องแคริบเบียน”

นักเขียน กาณจนา หงษ์ทอง

สำนักพิมพ์ แพรวท่องโลก

คุณกาญจนาเป็นนักเขียนในดวงใจอีกคนของฉันค่ะ เธอแคล่วคล่องในการใช้ภาษาสนุกๆ มีความสามารถหยิบคำศัพท์และโยนลงประโยคต่างๆ ทำให้หนังสือของเธออ่านสนุก ออกอารมณ์จิกกัดและอาการแสบๆคันๆนิดๆ

ในบรรดาหนังสือท่องเที่ยวทั้งหลายของเธอ ฉันรักเล่มนี้มากที่สุดค่ะ “โลโซล่องแคริบเบียน” สนุกจนวางไม่ลง ทั้งภาษาและประสบการณ์ของเธอกับเพื่อนฝูงบนเรือ … เชื่อไหมว่า อ่านเล่มนี้จบ ฉันก็บ้าคลั่งอยากจะไปล่องเรือตึก (ศัพท์ที่เธอเรียกเรือสำราญ) แทบจะในทันทีค่ะ

 

“Egypt’s Diary”

นักเขียน วันชัย ตัน

สำนักพิมพ์วงกลม

คุณวันชัย ตันเป็นอีกนักเขียนที่ฉันติดตามผลงานมาตลอด ทั้งเรื่องท่องเที่ยว การเมือง และสารคดีที่คุณวันชัย กลายเป็นตำนานให้คนรุ่นหลัง และเล่มล่าสุดที่อ่านผลงานของคุณวันชัย ก็คือ “The Last Hero” สืบ นาคะเสถียร ซึ่งเป็นหนังสือที่อ่านแล้วแทบหลั่งน้ำตาในหลายย่อหน้าเลยค่ะ

กลับมาที่ Egypt’s Diary คุณวันชัยเขียนได้สนุกและหนาแน่นไปด้วยข้อมูลอย่างคนทำสารคดีเท่านั้นที่จะรู้ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือเดินทางเล่มเดียวที่ฉันลากปากกาไฮไลท์ในหลายบรรทัดและหลายหน้า ข้อมูลทุกอย่างน่าอ่าน น่าจดจำ และก็ทำให้ฉันและสามีแพ็คกระเป๋าจองทัวร์ไปเที่ยวอียิปต์ในอีกไม่กี่เดือนถัดมาค่ะ

 

“ดาวหางเหนือทางรถไฟ”

นักเขียน ทรงกลด บางยี่ขัน

สำนักพิมพ์ a book

หนังสือเล่มนี้น่าจะจุดประกายให้ใครหลายคนได้เดินตามรางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียดังเช่นคุณทรงกลด …

ความรู้ ความสนุก และมุมมองที่ทำให้หยุดคิด ส่งให้ “ดาวหางเหนือทางรถไฟ” กลายเป็นหนังสือดาวรุ่ง ขายดิบขายดี เป็น Best Seller ของ a book มาหลายขวบปี

“ดาวหางเหนืองทางรถไฟ” ไม่ได้เป็นแค่หนังสือท่องเที่ยวหรือบันทึกการเดินทางเท่านั้น แต่สำหรับฉัน มันยังตีแผ่วัฒนธรรมสวยงามของคนสามเมือง สามเวลา และสามโลก ปักกิ่ง มองโกเลีย และรัสเซีย ได้อย่างน่าชมผ่านกระดาษ 400 กว่าหน้าเล่มนี้ค่ะ

“New York’s 1st Time”

นักเขียน ธนชาติ ศิริภัทราชัย

สำนักพิพม์ Salmon Books

ฉันห่างหายจากการอ่านหนังสือท่องเที่ยวไปเกือบ 2-3 ปี (ประมาณปี 2556-2558) เพราะนักเขียนที่ชื่นชอบไม่ค่อยมีผลงานออกใหม่และนักเขียนรุ่นใหม่สไตล์ก็ยังไม่ตรงใจนัก

ฉันจำได้ว่าเห็นหนังสือเกี่ยวกับนิวยอรค์ปกสีเหลืองขึ้นอันดับ 1 อยู่หลายอาทิตย์ แต่ก็ไม่เคยคิดจะหยิบมาอ่าน จนวันหนึ่งที่หนังสือไม่ได้ติดอันดับใดๆแล้ว ฉันจึงหยิบมาดูและไล่สายตาไปตามตัวหนังสือ

จากหนึ่งย่อหน้าไปจนหนึ่งบท สองบท … ฉันปล่อยหัวเราะไปแล้วไม่ต่ำกว่าสิบครั้งกับสำนวนกวนๆที่โดนใจ สุดฮาของคุณธนชาติ

หนังสือเล่มนี้เป็นภาษาคนรุ่นใหม่ในอีกหมวดหมู่ที่ฉันไม่คุ้นชิน แต่ก็ถูกใจมากค่ะ ประสบการณ์นิวยอรค์ครั้งแรกของคุณธนชาตินั้นน่าติดตาม อ่านสนุก ถึงแม้จะต่างจากหนังสือที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่ฉันชอบ แต่มันกลับมีเสน่ห์ตรงที่ความสมจริง และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ฉันพาตัวเองไปรู้จักกับนักเขียนรุ่นใหม่ๆ เช่นคุณบองเต่า และคุณวรรณสิงห์ในเวลาถัดมา …

 

“เถื่อนเจ็ด”

นักเขียน วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

สำนักพิมพ์ a book

จริงๆแล้วสถานที่ที่คุณวรรณสิงห์บอกว่าอันตรายและเดินทางไป อาจจะดูเถื่อนในสายตาคนไทย แต่ถ้าเป็นนักสารคดีชาวต่างชาติ สถานที่เหล่านั้นก็ไม่ใช่สถานที่ใหม่และแปลกเลย แต่เหตุผลที่หลงรักหนังสือเรื่องนี้อยู่ที่วิธีการเขียนของคุณวรรณสิงห์ เด็กหนุ่มที่มีสไตล์การเขียนเยือกเย็นแต่ลุ่มลึก เชือดเฉือนด้วยน้ำหมึกคมกริบ และที่สำคัญมีข้อมูลพร้อมและเพียงพอที่จะให้คนอ่านเข้าใจเหตุผลและที่มาที่ไปในแต่ละสถานที่และทำไมมันถึงเถื่อน !!!

ฉันชอบใจสไตล์ของคุณวรรณสิงห์จนต้อง google ว่านักเขียนหนุ่มน้อยคนนี้คือใคร และก็ต้องตกใจว่าทำไม ฉันช่างเชยเสียนี่ เพราะคุณวรรณสิงห์เป็นผลผลิตของแม่บทพ่อบทนักเขียนของชาวไทย คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา และเสกสรรค์ ประเสริฐกุลค่ะ … ลูกไม้หล่นใต้ต้นจริงๆ

 

“Bon En Khmer”

นักเขียน บองเต่า

สำนักพิมพ์ a book

หนังสือของคุณบองเต่ามอบเสียงหัวเราะให้แทบทุกย่อหน้า อ่านชีวิตการทำงานของคุณบองเต่าในเขมรแล้ว มันมันส์จริงๆค่ะ คุณบองเต่าถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเองออกมาผ่านสำนวนจัดจ้านที่คนรุ่นป้าต้องยอมรับว่า “แรด” จริงๆ

หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกเสียจนเมื่อจบ ฉันต้องยกหูโทรศัพท์ไปถามเพื่อนที่ทำงานบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งเพื่อนบอกว่า “ใช่ น้องคนนี้ทำงานที่ปูน” ฉันจึงวางแผนจะส่งหนังสือไปล่าลายเซ็นต์ แต่เพื่อนก็ออกตัว มาก่อนว่า “ไม่รู้จักนะ เขาอยู่คนละแผนก” … เสียดายจริงๆ นักเขียนในดวงใจเลยนะเนี่ย