Day 1 : อินเดียจ๋า พี่มาแล้วจ๊ะ (นิวเดลี – จัยปูร์)

เดินทางไปหลายประเทศในเอเชีย แต่เรากลับไม่เคยมาเหยียบอินเดียเลยสักครั้ง

หนึ่งในเหตุผลที่ขวางกั้นอินเดียจากเรา ก็ลุงนี่เอง ลุงเคยมาทำงานที่อินเดียหลายครั้งก่อนโควิด

ทริปธุรกิจครั้งสุดท้าย ลุงก็กลายเป็นผู้ประสบภัย ท้องเสียเข้าโรงพยาบาลที่กรุงเทพ

พอเราเอ่ยปากชวนมาอินเดียทีไร ลุงก็ส่ายหน้าเหมือนแขกอินเดียทุกครั้ง

คราวนี้เลยจับมัดมือชก จองทุกอย่างเสร็จสรรพ เรียบร้อยโรงเรียนภารตะ … ยังไงก็ต้องมา

Day 1

กรุงเทพ นิวเดลี ชั้น Premium Economy ของการบินไทย

นี่จะเป็นครั้งแรกที่เราได้ทดลองนั่งชั้น Premium Economy ของการบินไทย

ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี ใน 3 เส้นทาง นิวเดลี มุมไบ และฟุกุโอกะ

เครื่องบินรุ่นนี้เป็นลำที่เช่าต่อมาจาก Virgin Atlantic

เลยมีชั้น Premium Economy อยู่หนึ่งโซน

การบินไทยมีไฟลท์บินตรงสู่นิวเดลีวันละ 2 เที่ยวบิน

ขาไป เราเลือกไฟลท์เช้าตรู่ TG 323 ออกเดินทาง 7.35 ถึงนิวเดลี 10.35

ขากลับ เราเลือกไฟลท์สายหน่อย ยอมนอนค้างต่ออีกหนึ่งคืน

ด้วย TG 324 เวลา 11.40 – 17.35 น.

ระยะเวลาบินเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น

Premium Economy ของการบินไทยต่างจาก Business Class และ Economy Class อย่างไรบ้าง? เราสรุปมาให้ไวๆสำหรับคนที่สนใจตามนี้ค่ะ

  • จุดเช็คอินโหลดกระเป๋า เป็นช่องทางเดียวกับบัตรทอง ป้ายทางเข้าเขียน Economy Plus ซึ่งก็คือ Premium Economy
  • ลำดับการขึ้นเครื่อง ก็ขึ้นได้ไวกว่าชั้นประหยัด อยู่กลุ่มเดียวกับพวกบัตรทอง
  • ขนาดของเก้าอี้กว้าง 20 นิ้ว เท่ากับชั้นธุรกิจ เอนเบาะหลังได้สบาย แต่ปรับนอนไม่ได้เหมือนชั้นธุรกิจ
  • จอทีวีใหญ่ มีที่พักแขนและวางของ ส่วน leg room ยืดขาก็ยืดได้เหยียดยาว สบายมากค่ะ
  • อาหารทั้งไฟลท์ไปและกลับ เป็นอาหารชุดเดียวกับชั้นธุรกิจ เพราะผู้โดยสารในชั้น Premium Economy มีจำนวนน้อย (ขาไป 3 คน ขากลับ 6 คน)
  • ระหว่างไฟลท์มีบริการน้ำหวาน เช่น อัญชัญมะนาว และของขบเคี้ยว
  • กระเป๋า Amenities ที่แจกในเครื่องเป็นของ Kenneth Cole มีแปรงสีฟัน ถุงเท้า และอื่นๆอีกนิดหน่อย
  • ห้องน้ำ ใช้ร่วมกับชั้นธุรกิจได้
  • และสำหรับไฟลท์ของการบินไทยในช่วงนี้ มีบริการฟรีไวไฟบนเครื่อง สำหรับการแชต คุยกับเพื่อนได้ฟรีถึงสี่ชั่วโมง

สนนราคาของ Premium Economy ตกประมาณ 26,000 บาท เทียบกับ Economy อยู่ที่ 12,000 บาท แพงกว่าประมาณหนึ่งเท่าตัว แต่เราแลกไมล์การบินไทย ใช้ไมล์ 45,000 ไมล์ เทียบกับชั้น Economy ใช้ไมล์ 35,000 ไมล์ ใช้ไมล์มากกว่า 10,000 ไมล์ และจ่ายค่าภาษีอยู่ประมาณ 7,000 บาทเท่ากันค่ะ

 

อินเดียที่ควรรู้

สี่ชั่วโมง ผ่านไปไวเหลือเกิน เพราะเราเพลิดเพลินกับแชตสนุกสนานกับเพื่อนตลอดทั้งไฟลท์

รู้ตัวอีกทีล้อเครื่องบินก็แตะพื้นท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี สนามบินหลักของนิวเดลีแล้ว

*

วีซ่าเข้าประเทศอินเดีย มีอยู่สองแบบ คือ วีซ่าติดเล่ม กับวีซ่าออนไลน์

เราขอวีซ่าออนไลน์ ซึ่งขอได้ก่อนเดินทาง 1 เดือนล่วงหน้าเท่านั้น ผ่าน  https://indianvisaonline.gov.in/

ข้อมูลที่ใช้ในการขอก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร ลองดูรีวิวจาก You Tube เพื่อเตรียมตัวก่อนกรอกข้อมูลได้

เราขอวีซ่าท่องเที่ยว 30 วัน ค่าวีซ่าฟรี และภายใน 3 วัน ก็ได้รับการอนุมัติผ่านทางอีเมล์

*

จุดตรวจคนเข้าเมืองของอินเดียที่สนามบิน จะมีช่องทางพิเศษของวีซ่าออนไลน์ เราก็เข้าช่องนั้น

วันนี้นักท่องเที่ยวน้อย แค่ 5 นาทีเราก็ออกมาจุดรับกระเป๋า พร้อมออกไปผจญภัยที่อินเดียกันแล้ว

*

ส่วนเรื่องเงินทอง เราแลกกับทางร้านแลกเงินตามห้างติดตัวมา 5,000 บาทไทย

ตีเป็นเงินรูปีก็ประมาณ 13,000 รูปี ซึ่งก็ใช้พอ เพราะช้อปปิ้งตามร้าน หรือกินอาหารใช้บัตรเครดิตค่ะ

*

เวลาที่อินเดียจะช้ากว่าประเทศไทย 1.30 ชั่วโมง เช่นอินเดีย 15.30 น. ไทยก็จะ 17.00 น.

คิดยากอยู่เหมือนกัน เราเลยเซ็ต world clock ในมือถือเทียบเวลาสองประเทศ

จะได้โทรคุยกับแม่ได้ตรงเวลาไทยค่ะ

*

ทริปนี้เราใช้ทัวร์ส่วนตัว ไพรเวทกันสองคน ค่าทัวร์ รวมคนขับ ไกด์ และรถ SUV Toyota

อยู่ที่ 1,100 USD หรือประมาณ 37,000 บาทสำหรับ 5 วัน 4 คืน

ใครสนใจไกด์ของเรา Ugam Singh ก็ติดต่อสอบถามข้อมูลมาได้ค่ะ

 

นิวเดลี จัยปูร์ (Jaipur)

วันนี้ … เป็นวันแห่งการเดินทาง จากนั่งเครื่องบิน 4 ชั่วโมง เราก็จะนั่งรถต่อไปยังจัยปูร์อีก 5 ชั่วโมง

ถนนเชื่อมนิวเดลี-จัยปูร์นี้ สุดพรรณนาจริงๆค่ะ

ทั้งขรุขระ เอียงลาด ก่อสร้างตลอดเส้นทาง ยังไม่นับความสกปรกริมถนน

ทำเอาเราเวียนหัว โคลงเคลงเหมือนเมาเรือต่อไปตลอดคืน

นึกแล้วก็ขำ พวกเราว่าพระรามสองแย่แล้ว

พอมาดูถนนอินเดียเส้นทางนี้ แอบคิดเลยว่าเราก็โชคดีกว่าเยอะนะ

ถามไกด์จึงรู้ว่า ถนนสายนี้มีปัญหาคล้ายพระราม 2

การเมืองทำให้ล่าช้า ก่อสร้างไม่เสร็จ แต่ถนนอื่นที่เชื่อมเมืองสำคัญๆ

เช่นจัยปูร์-อัครา หรือ อัครา-นิวเดลี เป็นถนนไฮเวย์สภาพดี

มีจุดพักรถ และห้องน้ำสะอาดด้วยนะ ซึ่งเราใช้เดินทางในวันที่ 3 และ 4 ของทริปนี้ค่ะ

 

Fairmont Jaipur – ราชาสถานบนเนินเขาของจัยปูร์

ความตั้งใจแรก คือ เข้าพักในโรงแรมที่เคยเป็นพระราชวังเก่าของมหาราชามาก่อน

แต่หลังจากจองเสร็จสรรพ เราก็พบว่าการติดต่อกับโรงแรมช่างยากเย็น ส่งข้อความไปก็ตอบช้าจนลืม

แถมหลายๆคนยังเตือนด้วยความห่วงใย ให้เข้าพักตามโรงแรมเชน ที่มีมาตรฐานจะสบายใจกว่า

เราเลยไฟนอลกันที่ Fairmont Jaipur โรงแรมที่ตั้งอยู่บนเนินเขา Aravalli Hills ของจัยปูร์

บรรยากาศดี อากาศยังเย็นสบายในยามเช้าและกลางคืนของเดือนเมษายน

Fairmont Jaipur อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 นาที รอบๆโรงแรมเงียบสงบ

ยามเย็นยังเห็นวิวพระอาทิตย์ตกดินอีกด้วย

Fairmont Jaipur เป็นโรงแรมใหญ่ (มาก) มีทั้งหมด 245 ห้อง

ห้องอาหารอีก 3 ห้อง สระว่ายน้ำยาวเป็นทรงกากบาท เอกลักษณ์ของโรงแรม

มีพนักงานคอยให้บริการทุกมุม ฉับไวและครบครันตามแบบฉบับของ Fairmont

การต้อนรับอย่างมหาราชาและมหารานี …

ทันทีที่ประตูรถเปิด พนักงานแขกยามจะถือร่มคล้ายฉัตรมารับถึงที่รถ

กลองและเครื่องเล่นดนตรีพื้นบ้านของอินเดีย จะบรรเลงขึ้นอย่างพร้อมเพรียง

กลีบดอกกุหลาบจะโปรยปรายลงมาเป็นม่าน ระหว่างที่เราเดินเข้าไปยังโรงแรม

เป็นการต้อนรับที่เป็นเอกลักษณ์และสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกเข้า

แต่ก็แอบเขินอายอยู่เหมือนกัน

สองคืนจากนี้เราเข้าพักในห้อง Fairmont Gold Room

ซึ่งเป็นห้องพักที่แต่งด้วยวอลเปเปอร์ลวดลายสีทองอร่ามตัดกับสีน้ำเงินของราชวงศ์

สีสันที่ผสมรวมกันทั้งหมด ทำให้ห้องดูสดใส แต่ก็รุ่มรวยด้วยความหรูหรา

เตียงนอนสี่เสานุ่มสบาย เก้าอี้ day bed สวยงาม มุมนั่งชมวิวเล็กแต่ก็อลังการ

แอร์ในห้องเย็นฉ่ำ ตัดกับอากาศช่วงบ่ายที่ร้อนฉ่า เย็นๆยังมีบริการขนมขบเคี้ยวถึงห้อง

ส่วนห้องน้ำนั้นก็ใหญ่โตมโหราฬ เพดานโค้งมนคล้ายศิลปะโมกุลที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม

อ่างล้างหน้าแยกสำหรับมหาราชา (ชาย) และมหาราณี (หญิง)

ตรงกลางห้องน้ำมีอ่างอาบขนาดน้ำใหญ่

ขอใช้บริการ Rose Bathtub ให้พนักงานมาเตรียมน้ำกลีบกุหลาบให้อาบได้

ใครที่เข้าพักห้องนี้จะมี Butler หรือพนักงานส่วนตัว แอด WhatsApp นางได้

มีอะไรก็คอยถาม หรือให้ความช่วยเหลือตลอดการเข้าพัก

ที่สำคัญ ถ้าเข้าพักห้อง Fairmont Gold Room ก็จะเข้า Gold Lounge ได้อีกด้วย

เจ้า Gold Lounge นี้อยู่ชั้นเดียวกับห้องพักเลย เข้ามาใช้บริการสะดวกมาก

บรรยากาศคล้ายกับห้องรับแขกขนาดใหญ่ ตกแต่งสวยงามตามแบบฉบับอินเดีย

เครื่องดื่มใน Gold Lounge ก็มีครบครัน อาหารว่างก็มีบริการเช่นกัน

พนักงานต้อนรับซึ่งเป็น Butler ส่วนตัวบริการดีมาก ใส่ใจทุกรายละเอียด

หากเราอยากจะกินอะไร นอกเหนือจากเมนูอาหารว่าง ก็จะให้พ่อครัวทำให้พิเศษ

กลายเป็นว่าดินเนอร์ของทั้งสองคืนที่เราเข้าพัก ลุงมาใช้บริการที่นี่

ทั้งจิบไวน์แดง และสั่งอาหารว่าง อาหารคาว

ทุกอย่างบริการฟรี ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม

ถือว่าคุ้มกับราคาค่าห้องที่สูงกว่าห้องมาตรฐาน


นอกจากนั้น Gold Lounge ยังมีเฉลียงส่วนตัวขนาดใหญ่

ออกไปเดินชมวิวโรงแรมในมุมสูงที่ไม่เหมือนใคร

ภาพของ Raffles Hotel Jaipur ที่สวยงามก็ถ่ายได้จากมุมนี้เอง

Breakfast เช้านี้จัดขึ้นที่ห้องอาหาร Zoya มีที่นั่งทั้งด้านนอก และด้านใน

อากาศช่วงเช้ายังเย็นสบาย แต่เลือกนั่งด้านในเพราะยุงเยอะค่ะ

เมนูอาหารเช้าเน้นครัวฝรั่งและครัวอินเดียเป็นหลัก

ซุ้มผักและผลไม้สดน่ากินมาก แต่ต้องห้ามใจ รวมทั้งน้ำดื่มที่เราเอาติดตัวไปด้วย

เรายังไม่คุ้นเคยกับเชื้อของอินเดีย มาเที่ยววันแรกๆ ก็ต้องระวังตัวไว้ก่อน

นอกจากทั้งหมดที่เล่ามา Fairmont Jaipur ยังมีกิจกรรมระหว่างวันอีกหลายอย่าง

เช่น ห้าโมงเย็นจะมีการแสดงพื้นบ้านและปาร์ตี้เล็กๆในสวนของโรงแรม หกโมงจะมีทัวร์โรงแรม

และหลังจากนั้นก็จะมีการจุดคบเพลิงให้ความสว่าง และภาพของโรงแรมในยามค่ำคืน

บทสรุปของ Fairmont Jaipur เราให้คะแนนความพอใจกันถึง 8/10

ถึงแม้โรงแรมจะถอดแบบฉบับของโรงแรมเชน แต่ก็ให้ความเป็นอินเดียสูง

การบริการดี ตั้งใจ และพยายามสร้างความประทับใจให้แขกบ้านแขกเมือง

อาหารก็สะอาดสะอ้าน ถูกต้องตามกฎ 12 Gold Rules ของอินเดีย

สาวอินเดียตาคม ผิวสวย Butler ส่วนตัวตลอดการเข้าพักของเรา

ใครสนใจเข้าพักที่นี่ ก็สบายใจได้ มาได้ทั้งครอบครัวและสูงวัย

ห้องพักแบบ Gold Room อยู่ที่คืนละ 10,000 – 12,000 บาท

หรือประมาณ 27,000 – 30,000 รูปีต่อคืนค่ะ

ที่ตั้ง 2 Rico Kukas, Jaipur – Rajasthan India

โทรศัพท์​ +91 1426420000

อีเมล์ jai.reservations@fairmont.com

www.fairmont.com/en/hotels/jaipur/fairmont-jaipur.html